Bang Sai Arts and Crafts Training Centre


ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถทรงโปรดเกล้าให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในต่างจังหวัดให้ได้มีอาชีพเสริม มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์มรดกแห่งศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งใช้สอยอยู่ใน ชีวิตประจำวัน

  • ประวัติ
พ.ศ. ๒๕๒๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต. ช้างใหญ่ อ. บางไทร ในเขตที่ดินปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรม พื้นที่กว่า ๑,๐๐๐ ไร่ มุ่งฝึกงานช่างฝีมือแบบศิลปะไทยโบราณให้แก่เกษตรกรที่สนใจฝึกอาชีพเป็นราย ได้พิเศษจากช่วงที่ว่างจากงานเกษตร โดยทางศูนย์ฯ มีผู้ชำนาญงานช่างแขนงต่าง ๆ มาฝึกสอน เมื่อสามารถผลิตงานได้แล้ว ศูนย์ฯ จะรับซื้อผลงานไปจำหน่าย เปิดอบรมศิลปาชีพรุ่นแรกเมื่อวันที่ ๑ พ.ค. ๒๕๒๔ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเมื่อวันที่๗ ธ.ค. ๒๕๒๗
ในวันฉัตรมงคลปี ๒๕๒๓ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร รองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สรรหาที่ดินที่ใกล้เคียงกับพระราชวังบางปะอินเพื่อจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพอีกแห่งหนึ่ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร จัดหาที่ดินได้ ๒ แปลง เป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้รัฐบาลจัดการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ราษฎรผู้ยากไร้ได้มีที่อยู่และทำมาหากินตามอัตภาพ แปลงหนึ่งอยู่ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก อีกแปลงหนึ่งอยู่ที่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรที่ดินแปลงที่อยู่ที่อำเภอบางไทรด้วยพระองค์เอง ซึ่งที่ดินแปลงนี้มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๗๕๐ไร่เศษ และทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าสมควรจะสร้างศูนย์ศิลปาชีพ ณ ที่นี้วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๒๓ รัฐบาลได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินแปลงนี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๔ รอบ และรัฐบาลยังได้มีมติให้หน่วยราชการต่าง ๆ สนับสนุนโครงการของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจัดตั้งขึ้นโดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการดูแลสถานที่และการฝึกอบรม และมีหน่วยทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ มาช่วยดูแลในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดฝึกอบรมศิลปาชีพเรื่อยมา และมีการซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก ๒๐๐ไร่เศษ รวมเป็นเนื้อที่ของศูนย์ฯ ทั้งหมดเกือบ ๑๐๐๐ ไร่ในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จ พระราชดำเนินเปิดศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อ
วันที่ ๗ธันวาคม ๒๕๒๗

  • ภายในอาณาบริเวณศูนย์ศิลปาชีพบางไทรในปัจจุบันนี้ มีสถานที่ที่น่าสนใจ ดังนี้
๑. ศูนย์แสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าซึ่งเป็นผลผลิตจากสมาชิกในศูนย์
๒. โรงงานผลิตงานหัตถกรรมพื้นบ้านและงานช่างฝีมืออื่นๆ
๓. หมู่บ้านศิลปาชีพจำลอง ๔ ภูมิภาค
๕. สวนนก
๖. วังมัจฉา
๗. บริเวณอื่นๆ เช่น สวนพักผ่อน ท่าน้ำ โรงอาหารและร้านค้าของที่ระลึกเป็นต้น

  • ที่ตั้ง
ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอยู่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร มีอาณาบริเวณทั้งสิ้นประมาณ ๙๐๐ ไร่เศษ บริเวณที่ตั้งศูนย์ฯ นี้ เดิมเป็นที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เป็นเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำมาหากิน ต่อมารัฐบาลได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินแปลงนี้แด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๔ รอบเพื่อสนองพระราชดำริที่จะทรงจัดสรรที่ดินสักแปลงหนึ่งใกล้ ๆ กรุงเทพมหานคร สำหรับราษฎรที่เป็นเกษตรกรผู้ยากจนจากจังหวัดต่าง ๆ ได้ฝึกอบรมในงานศิลปาชีพหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อเป็นอาชีพเสริม

วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๒๓รัฐบาลได้มีมติให้หน่วยราชการต่าง ๆ สนับสนุนโครงการของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจัดตั้งขึ้นและเปิดการฝึกอบรมสมาชิกรุ่นแรก เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียรองคมนตรี และรองประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและดำเนินงานของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร
ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร รับเกษตรกรผู้ยากไร้จากจังหวัดต่าง ๆ รวม ๔๓ จังหวัด ซึ่งมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาฝึกอบรมในด้านศิลปาชีพสาขาต่าง ๆ เกษตรกรที่มาจากต่างจังหวัดจะได้เข้าพักอยู่ที่หอพักของศูนย์ฯ ส่วนเกษตรกรที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงกับศูนย์ฯ ก็อยู่บ้านของตนเองและมารับการฝึกอบรมแบบเช้าไป-เย็นกลับ

  • ขณะนี้ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร เปิดสอนศิลปาชีพประเภทต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น ๒๑ แผนก ดังนี้
๑. ช่างเขียนลายไทย
๒. ช่างไม้
๓. ช่างสีและชักเงา
๔. ช่างเครื่องเรือนหวาย
๕. ช่างปั้นตุ๊กตาและดอกไม้ประดิษฐ์ทำด้วยขนมปัง
๖. ช่างจักสานผักตบชวา
๗. ช่างปั้นและหล่อโลหะ
๘. ช่างเครื่องหนัง
๙. ช่างเป่าแก้ว
๑๐. ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า
๑๑. ช่างยนต์
๑๒. ช่างเครื่องเคลือบดินเผา
๑๓. ช่างทอผ้าไหม
๑๔. ช่างทอผ้าตีนจก
๑๕. ช่างจักสานไม้ไผ่ลายขิด
๑๖. ช่างจักสานย่านลิเพา
๑๗. ช่างปักผ้า
๑๘. ช่างทำขนมไทย
๑๙. ช่างถักนิตติ้ง
๒๐. ช่างทำดอกไม้ประดิษฐ์
๒๑. ช่างศิลปะประดิษฐ์ (ควั่นธูปเทียน, แป้งร่ำ, เครื่องบายศรีและใบตอง ฯลฯ)

นอกจากนี้ยังมีแผนกเกษตรกรรม เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรที่มาฝึกอบรมด้านศิลปาชีพให้มีพื้นฐานความรู้ทางด้านเกษตรกรรมด้วย
ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร เปิดอบรมสมาชิกปีละ ๓ รุ่น รุ่นละ ๔ เดือน มีสมาชิกมาฝึกอบรมรุ่นละ ๓๐๐-๔๐๐ คน ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและมีผลของการฝึกอบรมได้มาตรฐานที่ศูนย์ฯ วางไว้ จะได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความสามารถและประสบการณ์ บัดนี้มีผู้รับการฝึกอบรมสำเร็จตามหลักสูตรการฝึกอบรมไปแล้วไม่น้อยกว่า ๔,000 คนเศษ สำหรับระยะเวลาการฝึกอบรมนั้นแต่ละแผนกใช้เวลาไม่เท่ากัน แล้วแต่ความยากง่าย ความละเอียดอ่อนของศิลปาชีพแต่ละประเภท เช่น ช่างยนต์และช่างตัดเย็บเสื้อผ้า จะใช้เวลาฝึกอบรม 4 เดือน ส่วนช่างไม้ ช่างปั้นหล่อโลหะ ต้องใช้เวลาเป็นปี เป็นต้น
การเปิดศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ทำให้เกษตรกรผู้ยากไร้มีอาชีพเสริม ซึ่งก่อให้ฐานะความเป็นอยู่ในครอบครัวดีขึ้น และสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังมีผลพลอยได้อีกประการหนึ่ง คือ ทำให้เศรษฐกิจของอำเภอบางไทรดีขึ้นเดิมอำเภอ บางไทรเป็นอำเภอที่ค่อนข้างจะยากจน มีไร่นาร้างเป็นจำนวนมาก สภาพที่ดินไม่เหมาะสมแก่การทำไร่ทำนา ชาวบ้านอพยพไปหางานอื่นทำเป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อมีศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ขึ้นผู้คนก็เริ่มอพยพกลับมาผลทำให้ในปัจจุบันอำเภอบางไทรเจริญขึ้นอย่างมาก
ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร เป็นศูนย์ศิลปาชีพที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก มีภูมิทัศน์สวยงาม และมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้คนชมมากมาย การคมนาคมก็สะดวก ส่งผลให้ปัจจุบันนี้ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร จะจัดงานประจำปี ปีละ ๒ ครั้ง คือ งานลอยกระทงตามประทีป ในเดือนพฤศจิกายน และงานศิลปาชีพบางไทร ในตอนปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเผยแพร่ผลงานตามโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งเพื่อหารายได้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการศิลปาชีพบางไทรด้วย ในงานประจำปีทั้ง ๒ ครั้งนี้จะมีประชาชนไปชมกิจการในโครงการศิลปาชีพอย่างมากมายทุกครั้ง นอกจากนั้นยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศไปชมกิจการกันเป็นประจำอย่างต่อเนื่องด้วย

  • การเดินทาง

๑.เส้นทางที่ ๑ ทางหลวงหมายเลข ๙ (ถ.วงแหวนตะวันตก) จากแยกทางหลวง ๓๔๔(อ.บางบัวทอง) ซึ่งมาได้จาก จ.สุพรรณบุรี-ตลิ่งชัน หรือปทุมธานี ผ่านแยกต่างระดับสามโคก-ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา-เลี้ยวซ้ายทางแยกบ่อ ส่า-เดินรถ
ตรงจนถึงศูนย์ฯ
๒. เส้นทางที่ ๒ ทางหลวงหมายเลข ๓๐๖ ถ.ติวานนท์) จากห้าแยกปากเกร็ด-ผ่านแยกสวนสมเด็จ-ผ่านแยกปากคลองรังสิต-ผ่าน
แยกบางพูน-เลี้ยวขวาที่แยกเทคโนฯปทุมธานีเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๔๗ (ปทุมธานี-บางปะหัน) ผ่านแยก
เชียงรากน้อย-เลี้ยวซ้ายทางต่างระดับเชียงรากน้อยเดินรถทางตรงผ่านแยกบ่อส่า-กลับรถใต้สะพานแม่น้ำ
เจ้าพระยา-เลี้ยวซ้ายทางแยกบ่อส่า-เดินรถตรงมาจนถึงศูนย์
๓.เส้นทางที่ ๓ ทางด่วนสายปากเกร็ดบางปะอิน-ลงทางด่วนบางปะอินตรงผ่านแยกบ่อส่า-กลับรถใต้สะพานแม่น้ำเจ้าพระยา-
เลี้ยวซ้ายทางแยกบ่อส่า-เดินรถตรงมาจนถึงศูนย์ฯ
๔. เส้นทางที่ ๔ ทางหลวงหมายเลข ๑ (ถ.พหลโยธิน) จากรังสิตหรือภาคเหนือหรือภาคอีสาน-ผ่านแยกต่างระดับบางปะอิน
เข้าทางหลวงหมายเลข ๙ (ถ.วงแหวนตะวันตก) -ตรงผ่านแยกต่างระดับเชียงรากน้อย- เดินรถทางตรงผ่านแยกบ่อส่า-
กลับรถใต้สะพานแม่น้ำเจ้าพระยา-เลี้ยวซ้ายทางแยกบ่อส่า-เดินรถตรงมาจนถึงศูนย์
๕. เส้นทางที่ ๕ทางหลวงเอเชีย จาก อ.บางปะหัน-อยุธยา มาตามทางหลวงหมายเลข ๓๔๗(ปทุมธานี-บางปะหัน) -ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา-แยกต่างระดับเชียงรากน้อยเลี้ยวขวา-เดินรถ ทางตรงผ่านแยกบ่อส่ากลับรถใต้สะพานแม่น้ำเจ้าพระยา-เลี้ยวซ้ายทางแยกบ่อส่า -เดินรถตรงมาจนถึงศูนย์ฯ
๖. เส้นทางที่ ๖ ทางหลวงหมายเลข๓๓๐๙ (บางปะอินเชียงรากน้อย) จากทางหลวงสายเอเชีย หรืออยุธยา ผ่านหน้าโรงงานกระดาษบางปะอิน-ลอดใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา-เลี้ยวซ้าย ทางแยกท่าน้ำบางไทร- เดินรถตรงมาจนถึงศูนย์ฯ

  • การเข้าชม
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๘.๓๐-๑๗.๐๐น. วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๘ - ๑๘.๐๐ น.
  • อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๕0บาท เด็ก ๒0บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ ๑00 บาท เด็ก ๕0 บาท
เที่ยวชมภายในหมู่บ้านศิลปาชีพฯ “วังปลา” อาคารฝึก อบรมงานศิลปาชีพ “ศาลาพระมิ่งขวัญ” ซึ่งเป็นอาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพของนักเรียนศิลปาชีพ สักการะบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมฯ ณ ศาลาโรงช้าง และนั่งรถไฟเล็ก ได้โดยไม่เสียค่าบริการ

สอบถามรายละเอียดที่ประชาสัมพันธ์ศูนย์ศิลปาชีพบาง ไทร โทร.๐๓๕๓๖-๖๒๕๒-๔, ๐๓๕๒๘๓๒๔-๖ หรือ www.bangsaiarts.com

http://www.swu.ac.th/royal/book7/b7c3t3.html
thai-tour.com/thai-tour/Central/Ayutthaya/data/place/bangsai.htm